คลังสินค้า (WAREHOUSE) คืออะไร
คลังสินค้า (Warehouse) หมายถึง สถานที่ใช้ในการเก็บรักษาสินค้าให้อยู่ในสภาพดี และมีคุณสมบัติที่พร้อมจะส่งมอบให้กับลูกค้า บุคคล องค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโซ่อุปทาน หรือภายนอกโซ่อุปทาน โดยคลังสินค้าทำหน้าที่เป็นสถานที่พักและเก็บสินค้าหรือวัตถุดิบหรือวัสดุสิ่งของต่างๆ จนกว่าจะมีการเคลื่อนย้าย ส่งมอบไปสู่ผู้ที่มีความต้องการ ไม่ว่าจะเพื่อการผลิต หรือเพื่อจำหน่าย จ่าย แจก หรือ ขาย
ดังนั้น กิจกรรมของคลังสินค้าจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการจัดการโลจิสติกส์และซัปพลายเชน เพราะคลังสินค้าเป็นสถานที่เก็บสินค้าคงคลัง หากมีการจัดการสินค้าคงคลังที่ดีจะสามารถช่วยในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่าย ในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ ก่อให้เกิดสภาพคล่องและผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment)
ความสำคัญของคลังสินค้า (WAREHOUSE)
สินค้าคงคลังหรือสินค้าคงเหลือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจการผลิตและธุรกิจซื้อมาขายไปเป็นอย่างมาก เพื่อให้ธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นในการผลิตสินค้าที่ไม่ขาดตอน ธุรกิจก็ต้องสต๊อกวัตถุดิบ เพื่อใช้ในการผลิตและยังต้องเก็บสต๊อกสินค้าสำเร็จรูปไว้เผื่อขายด้วย วัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปเหล่านี้เรารวมเรียกว่าสินค้าคงคลังหรือสินค้าคงเหลือนั่นเอง กิจการที่มีสต๊อกจำนวนมากก็เป็นปัญหาทั้งสถานที่เก็บและยังเป็นปัญหาที่ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากอีกด้วย การบริหารสินค้าคงคลังให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องบริหารจัดการให้ดีเพื่อให้มีสินค้าขายและมีต้นทุนการเงินที่ต่ำไปด้วย
วัตถุประสงค์หลักของคลังสินค้าจะเกี่ยวข้องกับบทบาทในการอำนวยความสะดวก (Facilitate) ให้สินค้า และวัตถุดิบ สามารถส่งมอบให้ลูกค้าหรือสายการผลิตในโซ่อุปทานได้อย่างทันเวลาและมีความต่อเนื่อง
โดยบทบาทของคลังสินค้ามีหน้าที่สำคัญ 6 อย่าง ดังนี้
- การรับสินค้า (Receiving)
โดยการตรวจสอบจำนวน คุณลักษณะในการแยกแยะ จัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ โดยการจัดการที่มีระบบการตรวจสอบ และตรวจนับความถูกต้องที่เกี่ยวกับปริมาณ จำนวน สภาพ และคุณภาพ โดยคลังสินค้าทุกประเภทจะทำหน้าที่ในฐานะผู้ทรงสิทธิ ในความเป็นเจ้าของสินค้าชั่วคราว ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบที่จะมีต่อตัวสินค้า
- การควบคุมและรับผิดชอบต่อสินค้าที่จัดเก็บอยู่ในคลัง (Storage & Controlling)
ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการทั้งการใช้เทคนิค เทคโนโลยีในการเก็บและทักษะเครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงประเภท ต่างๆ เช่น รถยก , ชั้นวางสินค้า , การควบคุมบรรยากาศ อุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมในคลังให้เหมาะสมกับสินค้า แต่ละชนิด แต่ละประเภท รวมถึงอาศัยระบบและการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Automated Robot System (ระบบหุ่นยนต์) ระบบ Bar Code หรือ RFID รวมถึงระบบการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์
- การคัดแยกสินค้า
การ Packing การแบ่งบรรจุ การคัดเลือก การติดป้าย (Pick & Pack) คลังสินค้า ในฐานะกลไกโลจิสติกส์ในการรวบรวม จัดเก็บสินค้ายังทำหน้าที่อื่นตามที่ลูกค้าต้องการ (Services On Demand) ในธุรกิจการให้บริการคลังสินค้ารายได้ในส่วนนี้อาจพอๆ กับรายได้ในการจัดเก็บสินค้าหรือ ให้เช่าพื้นที่
- การควบคุมทางด้านเอกสาร
เกี่ยวกับรายงาน (Inventory Control) การเคลื่อนไหว การรับ และการเบิก-จ่าย ที่เรียกว่า Inventory Report และการควบคุมทางบัญชีโดยต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้า จะเป็นจำนวนหนึ่งในสามของต้นทุนโลจิสติกส์
- หน้าที่ในความรับผิดชอบความสูญหายและเสียหาย (Liability)
เพราะเป็นผู้ให้บริการเก็บรักษาและครอบครองสินค้า ในทางปฏิบัติอาจมีการกำหนดขอบเขต และจำกัดความรับผิดชอบ เช่น กรณีเสียหายจากอัคคีภัย อาจกำหนดเป็นวงเงินต่อพื้นที่เช่าเป็นตารางเมตร
- หน้าที่ในการส่งมอบและกระจายสินค้า (Delivery & Distribution)
ไม่ว่าจะส่งมอบสินค้า ให้กับผู้ผลิตหรือการจัดส่งสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้รับ ทั้งจำนวน สภาพ สถานที่และเวลา (The right thing at the right place in the right time) เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า ซึ่งจะต้องมีกระบวนการคัดเลือกสินค้า และระบบการจัดส่งให้กับลูกค้าด้วยหน้าที่นี้ ทำให้คลังสินค้าสามารถแยกออกตามลักษณะของภารกิจ ได้แก่
- คลังสินค้าเพื่อการจัดเก็บ (Storage Warehouse)
- คลังสินค้าสำหรับจำหน่าย (Wholesaler Warehouse)
- ศูนย์ขนส่งสินค้า (Truck Terminal)
- คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse)
- ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Cross Dock Warehouse)
- ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center)
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าคลังสินค้าเป็นกิจกรรมที่สำคัญของการจัดการโลจิสติกส์และซัปพลายเชน ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุด รองจากกิจกรรมด้านขนส่ง
ทั้งนี้การลดต้นทุนโลจิสติกส์ที่ได้ผลและทำได้รวดเร็วเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม คือการลดจำนวนสินค้าคงคลัง โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการส่งมอบ ที่เรียกว่า Just In Time โดยภารกิจของคลังสินค้าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ โดยเน้นประสิทธิภาพทางด้านเวลา ด้วยการลดช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายสินค้าและการใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่ (Space Utility)
ยุทธศาสตร์สำคัญของการบริหารสินค้าคงคลังสมัยใหม่ จะให้ความสำคัญของ “Zero Stock หรือ สต๊อกที่เป็นศูนย์” ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ได้ หมายความว่าจะไม่มีสินค้าคงคลังเหลืออยู่เลย แต่ความหมายของ Zero Stock นั้นได้เอาสต๊อกที่เป็นศูนย์เป็นตัวตั้ง โดยพยายามให้มีกระบวนการต่างๆ ที่จะทำให้สินค้าคงคลังน้อยที่สุด โดยมีตัวชี้วัดเปรียบเทียบกับ Zero Stock ซึ่งอาจมีการนำระบบการบริหารจัดการที่เรียกว่า Six Sigma มาใช้และดำเนินการนำระบบโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ หรือที่ เรียกว่า Logistics Best Practice โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า ปริมาณของสินค้าคงคลังที่ธุรกิจจะยินยอมให้มีมากที่สุดมี ได้เท่าไหร่ ซึ่งจะต้องมีดัชนีชี้วัด KPI และระบบ Balance Score Card มาใช้ควบคู่กันก็จะได้ประโยชน์สูงสูด
ที่มา :
– https://www.dip.go.th
– http://www.tanitsorat.com